วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ความเข้าใจลำดับการรับมือกับอุบัติภัยหรือภัยพิบัติหรือวิกฤติ

ในการรับมือกับสถานการณ์อุบัติภัย หรือ ภัยพิบัติ หรือ วิกฤติ ให้มีประสิทธิภาพจะประกอบด้วยการดำเนินการ 4 ลำดับขั้นตอนหมุนเวียนกันไป

การป้องกัน (Prevention & Mitigation) คือการตระเตรียมส่วนเสริมเพื่อป้องกันภัยหรืออันตรายต่างๆที่คาดคิดไว้ว่ามันเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นและหากเกิดขึ้นแล้วสิ่งที่เราเตรียมไว้ก็จะสามารถป้องกันภัยไว้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือการติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยตามมาตรฐานหรือตามที่กฏหมายกำหนดไว้แล้วสำหรับการดำเนินการธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้น ตัวอย่างเช่น การติดอุปกรณ์ตัดไฟฟ้าเมื่อเกิดไฟฟ้ารั่ว หรือการติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัยและตัดการทำงานของปั๊มเพื่อป้องกันไม่ให้สารเคมีอันตรายล้นจากที่เก็บ หรือการทำคันกั้นป้องกันสารเคมีหรือวัตถุไวไฟรั่วไหลออกสู่ภายนอกหากมีการรั่วใหลจากถังเก็บ ส่วนการป้องกันเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากกฎหมายหรือมาตรฐานกำหนด ได้แก่ การเตรียมกระสอบทรายหรือประตูกันน้ำ ปั๊มน้ำ บ่อรับน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น
การเตรียมพร้อมรับมือ (Preparedness) คือการเตรียมแผนตอบโต้กับสถานการณ์และบุคคลากรเพื่อจัดการกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยอาจจะเป็นเหตุการณ์ที่บุคคลากรภายในองค์กรสามารถรับมือได้เองหรืออาจจะเป็นเหตุการณ์ที่เหนือความสามารถจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภายนอก แผนที่ต้องเตรียมก็คือ แผนกู้ภัย (Emergency Response Plan) แผนต่อเนื่องธุรกิจ (Business Continuity Plan) และแผนรับมือกับวิกฤติ (Crisis Management Plan) ส่วนการเตรียมพร้อมด้านบุคคลากรก็คือการจัดเตรียมฝึกอบรมให้กับทีมงานที่จะต้องรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นเช่น ไฟไหม้ สารเคมีรั่วไหล ระบบสาระสนเทศล่ม ฯลฯ
การตอบสนอง (Response) คือการปฏิบัติงานจริงเมื่อเกิดภัย โดยทีมงานที่ได้รับการฝึกฝนมาจะตอบโต้กับภัยที่เกิดขึ้นตามแผนงานที่ได้เตรียมไว้แล้วในขั้นตอนของการเตรียมพร้อมรับมือ (Preparedness)
การฟื้นฟูแก้ไข (Recovery) คือการดำเนินการเพื่อให้ธุรกิจกลับคืนฟื้นตัวได้เร็วที่สุด จุดประสงค์คือการทำให้ธุรกิจหรือการผลิตสามารถดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน (Business Continuity) หรือ ถ้าจำเป็นต้องขาดตอนไป ก็เป็นไปในระยะที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
เมื่อผ่านพ้นช่วงช่วงของการปฏิบัติงานจริงไปแล้วเราก็จะเห็นว่ามีอะไรบ้างที่เราจะต้องปรับปรุงและเตรียมไว้เพื่อป้องกันเหตุการณ์อย่างนี้อีกในวันข้างหน้า ขั้นตอนก็จะกลับมาที่วัฏจักรเดิมคือการป้องกันภัย (Prevention & Mitigation) อีกครั้ง

การบริหารจัดการกับวิกฤติ (Crisis Management) ในขณะที่ทีมปฏิบัติการทำการกู้ภัย และ/หรือ ฟื้นฟูแก้ไขเหตุการณ์ อาจเป็นไปได้ว่าความรุนแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดวิกฤติทางชื่อเสียงหรือศรัทธากับธุรกิจขึ้นมาได้ ดังนั้นจะต้องมีการบริหารจัดการกับวิกฤติ หรือที่เราเรียกกันว่า Crisis Management เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับธุรกิจในอนาคตอันสืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น